top of page
นิ้วล็อค อาการที่พบบ่อย รักษาหายขาดได้
นิ้วล็อค อาการที่พบบ่อย รักษาหายขาดได้ โรงพยาบาลศุภมิตร
นิ้วล็อค อาการที่พบบ่อย รักษาหายขาดได้

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อกเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้ว ตรงบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้วทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อกไว้


กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อก

ผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วมือบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น แม่บ้าน, พนักงานออฟฟิศ, คนทำอาหาร, ช่างฝีมือด้านต่างๆ, แพทย์, ทันตแพทย์, หรือคนทำสวน เป็นต้น

ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคมากกว่าคนปกติ


อาการของโรคนิ้วล็อก

โดยทั่วไปอาการของโรคนิ้วล็อกจะเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อย และเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ระยะที่ 1: มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว กดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการสะดุด

ระยะที่ 2: อาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว

ระยะที่ 3: เมื่องอนิ้วลงจะมีอาการติดล็อคค้าง ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งมาช่วยแกะ หากมีอาการมากขึ้นจะไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4: มีอาการอักเสบและบวม อาการปวดรุนแรงมากขึ้นกำนิ้วไม่ลงและไม่สามารถเหยียดตรงสุดได้

รักษาได้และรักษาหายขาด แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ข้อที่ค้างอยู่งอไม่ลงอาจจะทำให้มีข้อยึดและส่งผลให้เกิดข้อยึดติดถาวรถึงแม้จะทำการรักษาแล้วก็ตาม ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เกิดอาการในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 ไว้เป็นเวลานานๆ


การรักษา

อาการระยะที่ 1 และ 2

เบื้องต้นควรพักมือจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรงหรือแบกน้ำหนัก ซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวเพื่อพักการใช้งานมืออย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ การประคบร้อนหรือเย็น ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคบางรายอาจใช้วิธีประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลงโดยเฉพาะหากทำในช่วงเช้า

รับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวด การทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการบริหารยืดเหยียดนิ้วมือ

ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว (Splinting) จะช่วยดามนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป อีกทั้งช่วยให้นิ้วได้พัก หากเกิดอาการนิ้วล็อคในตอนเช้าเป็นประจำ แนะนำให้ใส่อุปกรณ์ดังกล่าวดามนิ้วไว้ตลอดคืน เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอเข้าไปเองขณะนอนหลับ

ออกกำลังกายยืดเส้น

อาการขั้นที่ 3 และ 4

ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็น ได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป หากไม่หายแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ซ้ำ ๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น

การรักษาโดยการผ่าตัด จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี

วิธีที่ 1การผ่าตัดแบบเปิดเป็นวิธีมาตรฐาน โดยฉีดยาชาเฉพาะที่มีแผลผ่าตัด เพื่อกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น แผลขนาดเล็กประมาณ 1-2 ซม.ผ่าตัดเสร็จแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่หลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสแผล ประมาณ 2 สัปดาห์

วิธีที่ 2 เป็นการรักษาแบบปิดโดยการเจาะ ( Percutaneous Trigger Finger release ) เป็นการสะกิดปลอกหุ้มเอ็น ออกผ่านผิวหนัง ซึ่งไม่มีแผล ซึ่งอาจมีอันตรายต่อเส้นประสาทและเอ็นที่อยู่บริเวณข้างเคียง อาจทำให้มีอาการปวดขณะขยับนิ้วมือ ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่ลดผลข้างเคียง และให้ผลดี โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า A-Knife (Percutaneous Trigger Finger release with A-knife) เป็นนวัตกรรมการรักษาอาการนิ้วล็อคได้ในเวลาประมาณ 1 นาที แผลกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร โดยไม่ต้องทำที่ห้องผ่าตัด ลดผลข้างเคียงต่อเส้นเอ็น และเส้นประสาท เจ็บน้อย ไม่ต้องเย็บแผล มือที่ผ่าตัดสามารถใช้งานได้ทันที สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเร็วขึ้น


บริหาร 3 Step คลายนิ้วล็อก ด้วยตนเอง
  1. กล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ นิ้วมือ โดยยกของระดับไหล่ ใช้มือหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น – ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1 – 10 แล้วปล่อย ทำ 5 – 10 ครั้ง/เซต

  2. บริหารการกำ – แบมือ โดยฝึกกำ – แบ เพื่อการเคลื่อนไหวของข้อนิ้ว และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ โดยทำ 6 – 10 ครั้ง/เซท (กรณีนิ้วล็อคไปแล้ว งดทำท่าที่ 2)

  3. หากเริ่มมีอาการปวดตึง แนะนำให้แช่มือในน้ำอุ่นไว้ 15 – 20 นาทีทุกวัน (วันละ 2 รอบ เช้า – เย็น) หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

การป้องกันโรคนิ้วล็อค

1. ไม่หิ้วของหนักเช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ แต่หากจำเป็นควรมีผ้าขนหนูรอง และให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือหรือใช้วิธีอุ้มประคองหรือนำใส่ รถลาก

2.ไม่ควรบิดผ้าแรงๆ เพราะจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็น บวมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนิ้วล็อคควรซักผ้าด้วยเครื่อง

3. นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรหลีกเลี่ยงใช้ก้านเหล็กตีกอล์ฟขณะปวด ควรเปลี่ยนก้านไม้กอล์ฟเป็นก้าน Fiber ชั่วคราว

4. หลีกเลี่ยงงานที่มีแรงสั่นสะเทือน หรือควบคุมเครื่องจักร เช่น ไขควง กรรไกรตัดกิ่งไม้ เลื่อย ค้อน ควรใส่ถุงมือหรือหุ้มด้ามจับให้นุ่มขึ้น

5. ควรหลีกเลี่ยงการยกของด้วยมือเปล่า และควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก

6. งานที่ต้องทำต่อเนื่องนานๆควรพักมือเป็นระยะ


ข้อมูลจาก
นพ. ชยพงศ์ รัตนพงษ์เลขา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ
แผนกออร์โธปิดิกส์ คลินิกกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลศุภมิตรสุพรรณบุรี
bottom of page