top of page
มารู้จักกับ “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ”

มารู้จัก โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ โรงพยาบาลศุภมิตร
มารู้จัก โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

มารู้จักกับ “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ”

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอาการปวดข้อมือนั้นพบว่าสูงขึ้นมาก สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการจับแน่น กำแน่น การบิดข้อมือ การใช้งานลักษณะซ้ำๆแบบนี้จะทำให้เกิดการเสียดสีของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ข้อมือทำให้เกิดการอักเสบได้ จึงพบมากในกลุ่มแม่บ้าน แรงงาน และช่างฝีมือต่างๆได้มาก อีกทั้งยังพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาการเกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานานอีกด้วย โทรศัพท์ของผู้ป่วยบางรายมีขนาดใหญ่กว่ามือทำให้ต้องเกร็งและใช้งานเอ็นบริเวณข้อมืออย่างผิดปกติส่งผลให้มีเอ็นอักเสบตามมาได้ในที่สุด


3 ตำแหน่งที่พบบ่อย ของโรคปลอกเอ็นอักเสบบริเวณข้อมือ คือ

1.เอ็นหัวแม่มือ เอ็นหัวแม่มือนี้จะทอดผ่านตัวข้อมือและถูกใช้งานมากที่สุด เป็นปริมาณร้อยละ 50 ถึง 60 ของมือข้างนั้นๆ และต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนนั้น ถูกดีไซน์มาให้ใช้กับหัวแม่มือเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดอาการเอ็นหัวแม่มืออักเสบได้บ่อยที่สุด โดยการอักเสบจะเป็นบริเวณโคนหัวแม่มือหรือเป็นบริเวณข้อมือก็ได้

2.เอ็นหลังข้อมือ เกิดจากการที่กระดกข้อมือไปทางด้านหลังเป็นระยะเวลานานโดยมักจะพบกับมือขวา หรือมือข้างที่ถนัด ที่ต้องกระดกเพื่อใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั่นเอง

3.เอ็นหน้าข้อมือ ซึ่งเป็นเอ็นที่ใช้สำหรับการงอข้อมือหรือนิ้วมือ การอักเสบนี้ มักจะพบที่บริเวณมือซ้าย หรือมือข้างที่ไม่ถนัด เนื่องจากว่าต้องถือโทรศัพท์ในท่าเกร็งข้อมือและงอนิ้วมือเป็นระยะเวลานานครับ


อาการของโรคปลอกเอ็นอักเสบบริเวณข้อมือ

มักจะเริ่มจากอาการปวดติดขัด ขยับได้ไม่คล่อง ข้อมือและนิ้วมือมีความยืดหยุ่นลดลง ใช้งานได้ไม่ค่อยถนัด จากนั้นจะตามมาด้วยอาการต่างๆ โดยอาการที่ควรจะมาพบแพทย์ ได้แก่

-มีอาการปวดมากอย่างเฉียบพลันที่บริเวณมือ, นิ้วมือ หรือบริเวณแขน

-อาการปวดเป็นเรื้อรังหลายวัน ไม่ดีขึ้นหลังจากพักหรือรับประทานยา

-มีอาการชาหรือเสียวแปล๊บๆ บริเวณมือ, นิ้วมือ หรือบริเวณแขนร่วมด้วย

-อาการอักเสบบวม, แดง ร่วมด้วย

แพทย์สามารถที่จะหาสาเหตุ หรือตรวจหาเอ็นที่เกิดการอักเสบได้ โดยการตรวจร่างกาย หลายครั้งการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยวินิจฉัยร่วมด้วย ทำให้ระบุเอ็นที่เป็นปัญหา และระบุตำแหน่งเอ็นที่อักเสบได้อย่างแม่นยำ และจะสามารถทำการรักษาได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลดีที่สุดจากการรักษาครับหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้ตัวคอลลาเจนที่อยู่ในเส้นเอ็นเกิดการเสื่อม ส่งผลให้เกิดการปวดเรื้อรังและยากต่อการรักษาครับ


การรักษาโรคปลอกเอ็นอักเสบบริเวณข้อมือ

ขั้นแรกแนะนำควรหยุดพักการใช้งานบริเวณมือและนิ้วโป้งซ้ำๆ บ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของมือ เช่น การหยิบของหนัก การเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือ ควรประคองให้ข้อมืออยู่ในแนวระนาบเดียวกับแขนในเบื้องต้นแพทย์จะให้รับประทานยาแก้อักเสบ การทำกายภาพบำบัด ประคบ อัลตร้าซาวน์ เลเซอร์ เพื่อลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ในบางกรณีแพทย์อาจจะแนะนำให้ติดเทปหรือเข้าเฝือกบริเวณแขนและนิ้วโป้ง เพื่อให้ลดการใช้งานของเส้นเอ็น


หากใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้วไม่เห็นผล แพทย์จะแนะนำให้ฉีดสเตียร์รอยด์ที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มีอาการอักเสบ ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้


จากนั้นในรายที่มีฉีดยาแล้วไม่เห็นผลหรือในรายที่มีอาการเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นข้อมือในส่วนของเอ็นที่อักเสบ เพื่อลดเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็นกับเส้นเอ็น โดยสามารถทำการผ่าตัดเล็กด้วยการฉีดยาชาและคนไข้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล


หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้แผลโดนน้ำ และควรขยับนิ้วมือในบางครั้ง หลังผ่าตัด 10-14 วัน แพทย์จะนัดมาตัดไหม นอกจากนั้น นักกายภาพจะแนะนำวิธีการบริหารข้อบริเวณมือและนิ้วโป้งให้แข็งแรง วิธีการที่ไม่ใช้งานข้อมือและนิ้วโป้งมากเกินไป และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บในอนาคต

ท่าบริหารเพื่อป้องกันโรคปลอกเอ็นข้อมืออักเสบ

แตะปลายนิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วชี้ ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นให้ขยับปลายนิ้วหัวแม่มือมาแตะที่ปลายนิ้วก้อย ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำซ้ำสลับไปมาจนครบ 10 ครั้ง(Opposition stretch)

งอข้อมือลงให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วเปลี่ยนมากระดกข้อมือขึ้นให้มากที่สุด ค้างไว้อีก 5 แล้วทำซ้ำสลับไปมาจนครบ 10 ครั้ง (Wrist stretch)

หงายฝ่ามือขึ้น กำมือ แล้วค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นให้ค่อยๆ ดัดข้อมือลงไปตำแหน่งเดิม โดยทำซ้ำจนครบ 10 ครั้ง (Wrist flexion)

คว่ำมือลง กำมือ แล้วค่อยๆ กระกดข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นค่อยๆ กดข้อมือลง ค้างไว้อีก 5 วินาที ทำซ้ำสลับไปมาจนครบ 10 ครั้ง (Wrist extension)

ใช้วัตถุเป็นตัวช่วย เช่น ลูกบอลเล็กๆ โดยบีบวัตถุให้แน่นที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วคลายออก ทำซ้ำสลับไปมาจนครบ 10 ครั้ง (Grip strengthening)


หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมา ท่านสามารถปฏิบัติตัวในการดูแลรักษาเบื้องต้นและทำการบริหารเองก่อนได้ แต่หากมีอาการที่เป็นมากขึ้น รักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หมอก็แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิคสถานพยาบาลใกล้บ้านท่านเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ


ข้อมูลจาก
นพ. ชยพงศ์ รัตนพงษ์เลขา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ
แผนกออร์โธปิดิกส์ คลินิกกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลศุภมิตรสุพรรณบุรี
bottom of page