top of page
ข้อเท้าแพลงรับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง พบบ่อย รักษาอย่างไร? โรงพยาบาลศุภมิตร
โรคข้อเท้าแพลง

รู้จักข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลง (ankle sprain) เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าแพลงนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากอุบัติเหตุรอบตัว การออกกำลังกาย เป็นต้น


อาการของข้อเท้าแพลง
  • เจ็บปวดบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงน้ำหนักที่เท้าหรือได้รับแรงกด

  • ข้อเท้าบวม

  • มีรอยช้ำเลือด หรือผิวหนังบริเวณนั้นมีสีที่เปลี่ยนไป

  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

  • ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงเส้นเอ็นพลิกในขณะที่เกิดข้อเท้าแพลง


สัญญาณอันตรายที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที เช่น

  • ปวดบวมมากบริเวณข้อเท้า

  • ไม่สามารถเหยียบลงน้ำหนักได้

  • มีอาการต่าง ๆ ของข้อเท้าแพลง แต่อาการรุนแรงมาก จนอาจเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหัก หรือเอ็นฉีกขาดระดับรุนแรง


ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุและผู้มีอาการอ่อนแรง ก้าวพลาด หรือหกล้มง่าย

  • การมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือมากเกินไป

  • การวิ่งหรือการก้าวเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระ หรือทิ้งตัวลงมาผิดจังหวะจากการกระโดดหรือหมุนตัว

  • การสวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้าทำให้การเดินไม่มั่นคง

  • การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนข้อเท้าแพลงได้ เช่น การเล่นเทนนิส บาสเก็ตบอล ฟุตบอล

  • เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้ามาก่อน

ภาวะแทรกซ้อนของข้อเท้าแพลง

หากเกิดอาการข้อเท้าแพลงขึ้นแล้วปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นได้ เช่น เกิดอาการปวดอย่างเรื้อรัง เกิดภาวะเอ็นข้อเท้าไม่มั่นคงเรื้อรัง เสี่ยงเกิดข้ออักเสบเร็วขึ้น เป็นต้น


การวินิจฉัย เมื่อผู้ป่วยสงสัยว่ามีอาการข้อเท้าแพลงไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายด้วยการดู จับ ขยับ และกดบริเวณข้อเท้า เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของข้อเท้า และบริเวณที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด

หากอาการบาดเจ็บมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอาการจากภาพฉายภายใน ซึ่งจะตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกระดูก กล้ามเนื้อ และเอ็นข้อต่อในข้อเท้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป


โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
  • การฉายภาพเอกซเรย์ (X-Ray) เป็นการใช้เครื่องฉายรังสีเอกซเรย์ผ่านบริเวณข้อเท้าของผู้ป่วย แล้วฉายภาพโครงสร้างภายในกระดูกข้อเท้าออกมาเพื่อประกอบการวินิจฉัย

  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan: CT Scan) เป็นการใช้เครื่อง CT Scan ฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณข้อเท้า แล้วให้เครื่องคอมพิวเตอร์ฉายภาพรายละเอียดภายในกระดูกข้อเท้า เนื้อเยื่อ และเอ็นข้อต่อออกมา

  • การสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI Scan) เป็นการใช้เครื่อง MRI Scan ฉายคลื่นวิทยุผ่านสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พ่วงต่อจะฉายภาพโครงสร้างและรายละเอียดเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในข้อเท้าที่เกิดความเสียหายออกมา



การรักษา วิธีการรักษาข้อเท้าแพลงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ แต่โดยทั่วไป หากอาการข้อเท้าแพลงที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจรักษาดูแลบรรเทาอาการด้วยตนเองจนดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น


  • รับประทานยา หากผู้ป่วยเจ็บปวดจากอาการข้อเท้าแพลง ให้รับประทานยาแก้ปวดบรรเทาความเจ็บปวด

  • ประคบเย็น ใช้ถุงน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ปวดบวมป็นเวลา 20 นาที และประคบซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 3-4 ครั้ง/วัน ในวันแรกที่ข้อเท้าแพลงหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรืออาการป่วยทางประสาทสัมผัสการรับรู้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรักษาด้วยวิธีนี้

  • ยกข้อเท้าขึ้นสูง ควรยกข้อเท้าขึ้นหรือใช้หมอนช่วยรองให้ข้อเท้าอยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจขณะนอนราบ ช่วยให้อาการบวมลดลงได้

  • พักผ่อน เพื่อให้ข้อเท้าที่บาดเจ็บได้พักฟื้น ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มน้ำหนัก แรงกด หรือการกระทบกระเทือนที่อาจทำให้ข้อเท้าบาดเจ็บซ้ำอีก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำยันช่วยพยุงน้ำหนักเวลาเดิน

  • พันรัดบริเวณข้อเท้าแพลง ใช้ผ้ายืดพันรัดรอบบริเวณที่ข้อเท้าแพลง เพื่อลดอาการบวม ให้พันผ้าไว้จนกว่าอาการบวมจะหายไป โดยใช้วัสดุและวิธีการพันที่เหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญ หากทำผิดวิธีแล้วอาจจะทำให่เกิดการบวมอักเสบมากขึ้นได้


การรักษาเมื่อไปพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการรักษาและฟื้นตัว ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการให้แน่ชัดว่ามีอาการรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกระดูกหรือเนื้อเยื่อส่วนอื่นด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด แพทย์อาจมีวิธีการรักษาและแนะนำขั้นตอนปฏิบัติตนดังต่อไปนี้


การใช้อุปกรณ์ช่วย นอกจากการใช้ผ้ายืดพันยึดรอบข้อเท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์แบบสวมพยุงข้อเท้า (Brace) หรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงร่างกายในขณะเคลื่อนไหว


การบำบัด หลังอาการบวมและบาดเจ็บหายไป ผู้ป่วยอาจต้องฝึกออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะบริหารบริเวณข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัวให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมภายใต้คำแนะนำของแพทย์


การทำหัตถการ หากอาการปวดบวมจากข้อเท้าแพลงไม่คงที่หรือไม่บรรเทาลง แพทย์อาจต้องใส่เฝือกดามบริเวณข้อเท้า หรือใส่เฝือกรองเท้าช่วยเดิน (Walking Boot) จนกว่าอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นและกลับมาเดินได้ตามปกติ


การผ่าตัด แม้เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก แต่แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการข้อเท้าแพลงหากอาการข้อเท้าแพลงไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ หรืออาการข้อเท้าแพลงที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้เอ็นและกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นอย่างรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดรักษาข้อเท้าแพลงตามความรุนแรงของอาการ เช่น

  • การผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopy) ศัลยแพทย์จะผ่าตัดโดยมองผ่านการส่องกล้องบริเวณกระดูกหรือกระดูกอ่อนที่อาจเกิดการแตกหักหรือเสียหาย

  • การผ่าตัดรักษาเส้นเอ็น (Reconstruction) ศัลยแพทย์จะผ่าตัดรักษาเอ็นส่วนที่ยึดตึงและเกิดความเสียหาย โดยแพทย์อาจนำเอ็นข้อต่อหรือเอ็นกล้ามเนื้อในบริเวณใกล้เคียงมาซ่อมแซมเอ็นเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายด้วย


การพักฟื้นหลังการผ่าตัด หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยผู้ป่วยควรดูแลตนเองและพักฟื้นร่างกายภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อรับการตรวจและติดตามผล บริหารข้อเท้า ออกกำลังกาย หรือทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนำ


6 ท่าบริหารข้อเท้าที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเท้าแข็งแรงขึ้น

  1. นั่งเก้าอี้แล้วเหยียดขาไปด้านหน้า ใช้ปลายเท้าวาดเป็นตัวเลข 0 – 9 ในอากาศ เพื่อให้ข้อเท้าขยับในทุกทิศทาง ทำซ้ำ 2-3 รอบ บริหารวันละ 2-3 ครั้ง

  2. นั่งราบกับพื้นเหยียดขาไปด้านหน้า ใช้ผ้าขนหนูคล้องและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาตัว ทำค้างไว้ 15 – 30 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง จะช่วยฝึกความยืดหยุ่นของข้อเท้า

  3. ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือทั้งสองข้างยันกำแพงไว้ แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปด้านหลังโดยให้ปลายเท้าชี้มาด้านหน้า ส่วนขาอีกข้างงอเข่าลง จนรู้สึกตึงบริเวณข้อเท้าขาที่ก้าวไปด้านหลัง ทำค้างไว้ 15-30 วินาที ทำสลับกันทั้งสองข้าง ข้างละ 5 – 10 ครั้ง จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อเท้า

  4. ฝึกการทรงตัวเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อเท้าด้วยการยืนขาเดียวบนพื้นราบ กางแขนออกและลืมตา สลับกับการกอดอกแล้วหลับตา ทำข้างละ 5 – 10 ครั้ง หากทำได้คล่องแล้วสามารถเปลี่ยนมายืนบนพื้นที่ไม่มั่นคงได้ เช่น ผ้าขนหนูพับทบกัน 3 – 4 ชั้น

  5. เดินต่อเท้า 10 – 20 ก้าว ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เพื่อฝึกการทรงตัวและช่วยให้ข้อเท้าแข็งแรงขึ้น

  6. ใช้อุปกรณ์ ยางยืดออกกำลังกายหรือ resistance band โดยสอดเท้าเข้าไปในยางยืดแล้วใช้เท้าดึงต้านแรง พร้อมใช้โดยกระดกข้อเท้าขึ้น กระดกข้อเท้าลง บิดข้อเท้าเข้าด้านใน และบิดข้อเท้าออกด้านนอกทำค้างไว้ 5 – 10 วินาที ทำซ้ำ 10 – 15 ครั้ง การบริหารข้อเท้าจะช่วยให้อาการข้อเท้าที่หลวมดีขึ้น แต่ถ้าทำเป็นประจำต่อเนื่องอย่างน้อยหนึ่งเดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาการที่เป็นอยู่อาจรุนแรงจนเกินกว่าจะใช้วิธีบริหารได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


ข้อมูลจาก
นพ. ชยพงศ์ รัตนพงษ์เลขา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ
แผนกออร์โธปิดิกส์ คลินิกกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลศุภมิตรสุพรรณบุรี
bottom of page